Hedging กลยุทธ์การลดความเสี่ยงที่มือใหม่ไม่ควรมองข้าม

Hedging
สารบัญ

ในโลกของการลงทุน สิ่งหนึ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้แน่ ๆ เลยคือ “ความเสี่ยง” ไม่ว่าจะเป็นตลาดหุ้นที่มีความผันผวนอยู่ตลอดเวลา ค่าเงินที่แกว่งไปมาแบบไม่แน่นอน หรือแม้แต่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อย ๆ การป้องกันความเสี่ยงเหล่านี้จึงกลายเป็นสิ่งสำคัญที่นักลงทุนต้องรู้ ซึ่งแน่นอนว่าในปัจจุบัน มีกลยุทธ์หนึ่งที่นักลงทุนมือใหม่สามารถทำความเข้าใจ และช่วยลดความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่เรียกกันว่า ‘Hedging’ หรือการป้องกันความเสี่ยง

สำหรับผู้ที่ยังไม่เคยรู้จักมาก่อน อาจจะรู้สึกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ซับซ้อนยุ่งยาก และวุ่นวายอย่างแน่ ๆ แต่เอาเข้าจริงแล้ว การใช้ Hedging ไม่ได้ยากอย่างที่คิดเลย การรู้วิธีใช้เครื่องมือนี้ไม่เพียงแต่ช่วยลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้เท่านั้น แต่ยังเป็นส่วนช่วยสำคัญให้นักลงทุนมั่นใจได้มากขึ้น ซึ่งในบทความครั้งนี้ เราจะพาคุณไปรู้จักกลยุทธ์การลดความเสี่ยงที่นักลงทุนทุกระดับควรมีติดตัวไว้

Hedging คืออะไร?

การป้องกันความเสี่ยง หรือที่เรียกว่า “Hedging” เป็นกลยุทธ์ที่นักลงทุนและนักธุรกิจหลายคนใช้เพื่อลดความเสี่ยงในการขาดทุนจากความผันผวนที่เกิดขึ้นในตลาด แน่นอนว่าความเสี่ยงต่าง ๆ ในตลาดเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น การเปลี่ยนแปลงของราคาสินทรัพย์ ตลาดการเงิน ค่าสกุลเงิน หรือแม้แต่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodities) ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีความเชื่อมโยงกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ทำให้เกิดความผันผวนและความเสี่ยงในตลาดขึ้นได้ตลอดเวลา

แน่นอนว่าเป้าหมายหลักของการทำ Hedging คือการทำให้ผลกระทบเหล่านี้ที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงให้น้อยลง (มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้) หรืออยู่ในเกณฑ์ที่ควบคุมได้ หากเปรียบเทียบง่าย ๆ ก็เหมือนกับการทำประกัน เช่น หากคุณมีบ้านและกังวลว่าบ้านอาจเกิดความเสียหายจากเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด คุณอาจทำประกันบ้านเอาไว้ หากเกิดเหตุไฟไหม้หรือความเสียหายใด ๆ ประกันก็จะเข้ามาช่วยชดเชยความเสียหายให้คุณ ไม่ว่าบ้านของคุณจะเสียหายหรือไม่ คุณก็ยังต้องจ่ายเงินค่าเบี้ยประกันไปตามที่ตกลงไว้

ซึ่งในทางด้านการลงทุนก็มีความคล้ายคลึงเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น คุณลงทุนในหุ้น A แต่กลัวว่าราคาของหุ้นจะตก คุณอาจเลือกลงทุนกับสินค้าอื่น ๆ ที่เมื่อหุ้นตกแล้ว ราคาของสินค้านั้นอาจจะมากขึ้นก็ได้ เพื่อลดความเสี่ยงจากการลงทุนหุ้น แล้วเอากำไรจากการลงทุนสินค้ามาชดเชยในส่วนนี้แทน

เครื่องมือการ Hedging มีอะไรบ้าง?

เครื่องมือการ Hedging มีอะไรบ้าง?

แน่นอนว่าการจะใช้กลยุทธ์การป้องกันความเสี่ยงหรือ Hedging ก็จำเป็นต้องมีเครื่องมือด้วยเช่นกัน ซึ่งเครื่องมือในการป้องกันความเสี่ยงนั้นมีหลากหลาย ตั้งแต่การกระจายการลงทุน (Diversification) ไปจนถึงการใช้เครื่องมือทางการเงินที่ซับซ้อนอย่างอนุพันธ์ (Derivatives) ซึ่งมาลองดูกันเลยว่าเครื่องมือแต่ละแบบทำงานอย่างไร

1. การกระจายการลงทุน (Diversification)

การกระจายการลงทุนเป็นวิธีพื้นฐานในการลดความเสี่ยง โดยวิธีการหนึ่งที่มักใช้กันคือการลงทุนในสินทรัพย์หลายประเภทที่ไม่เกี่ยวข้องกัน หรือที่เรียกว่า “Uncorrelated Assets” ความเสี่ยงที่เกิดจากการลงทุนในสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่งจะถูกลดทอนลง เพราะผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสินทรัพย์หนึ่งอาจถูกหักล้างด้วยการเปลี่ยนแปลงของสินทรัพย์อื่น ๆ ที่มีลักษณะการเคลื่อนไหวในทิศทางตรงกันข้าม

ตัวอย่างการกระจายการลงทุนที่พบเห็นได้บ่อย

  • หุ้นและทองคำ: หุ้นเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงมาก แต่ก็มีโอกาสทำกำไรได้สูง แต่เมื่อเศรษฐกิจชะลอตัวหรือตลาดมีความผันผวน ราคาของหุ้นอาจตกลง ซึ่งในขณะเดียวกัน ทองคำมักจะเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่าสูงมากขึ้นเมื่อเศรษฐกิจอยู่ในสภาวะที่ไม่แน่นอน นักลงทุนหลาย ๆ คนจึงมักจะลงทุนหุ้นและทองคำไปพร้อม ๆ กัน เพื่อลดความเสี่ยงเมื่อตลาดหุ้นตกได้ เพราะเมื่อหุ้นตก ราคาทองจะปรับขึ้นมาเพื่อชดเชย

2. การใช้อนุพันธ์ (Derivatives)

อนุพันธ์เป็นเครื่องมือที่นักลงทุนมืออาชีพเลือกใช้ในการ Hedging โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดการเงินที่มีความผันผวนสูง เช่น ตลาด Forex โดยอนุพันธ์เป็นสัญญาทางการเงินที่มีมูลค่าขึ้นอยู่กับราคาของสินทรัพย์อ้างอิง เช่น หุ้น พันธบัตร หรือสินค้าโภคภัณฑ์ต่าง ๆ อย่างทองคำ น้ำมันดิบ ฯลฯ แต่อนุพันธ์ที่นิยมใช้ในการป้องกันความเสี่ยงมากที่สุดได้แก่ ฟิวเจอร์ส (Futures) และ ออปชั่น (Options)

2.1 ฟิวเจอร์ส (Futures)

ฟิวเจอร์สเป็นสัญญาที่ผู้ซื้อและผู้ขายต้องทำการตกลงกันว่าจะทำการซื้อสินทรัพย์ในอนาคตในราคากำหนดไว้ล่วงหน้า โดยที่ทั้งสองฝ่ายจะต้องทำตามสัญญาที่ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ก็ต้องทำการซื้อขายดังกล่าว โดยตัวอย่างในการใช้ฟิวเจอร์สในการป้องกันความเสี่ยงมีดังนี้

  • ตัวอย่าง: บริษัท A ที่คาดว่าต้องใช้น้ำมันจำนวน 10,000 บาร์เรลในอีก 6 เดือนข้างหน้า ซึ่งปัจจุบันราคาน้ำมันอยู่ที่ 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล บริษัทกลัวว่าราคาน้ำมันอาจพุ่งสูงถึง 90 ดอลลาร์ ดังนั้นจึงทำสัญญาฟิวเจอร์ส (Futures) ซื้อน้ำมันล่วงหน้าไว้ที่ราคา 70 ดอลลาร์ หากในอีก 6 เดือนข้างหน้า ราคาน้ำมันขึ้นไปเป็น 90 ดอลลาร์จริง บริษัทก็ยังได้ซื้อน้ำมันในราคาที่ล็อกไว้ล่วงหน้า (70 ดอลลาร์) ทำให้สามารถควบคุมต้นทุนเชื้อเพลิงได้โดยไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงจากราคาที่พุ่งสูงขึ้น

2.2 ออปชั่น (Options)

ออปชั่นเป็นสัญญาที่ให้สิทธิแก่ผู้ถือในการซื้อหรือขายสินทรัพย์ในราคาที่กำหนดไว้ แต่ไม่จำเป็นต้องทำสัญญา (มีเพียงสิทธิไม่ใช่ข้อผูกมัด) ซึ่งแตกต่างจากตัวของฟิวเจอร์สอย่างชัดเจน โดยตัวออปชั่นมีสองประเภทที่ต้องรู้จัก

  • Call Option: ให้สิทธิในการซื้อสินทรัพย์ในราคาที่กำหนด
  • Put Option: ให้สิทธิในการขายสินทรัพย์ในราคาที่กำหนด

การใช้ Call หรือ Put Option ช่วยให้นักลงทุนสามารถป้องกันความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของราคาสินทรัพย์ในอนาคตได้ โดยตัวอย่างที่พบเห็นได้บ่อยมีดังนี้

  • ตัวอย่าง: คุณเป็นนักลงทุนที่ถือหุ้นของบริษัท A แต่กังวลว่าราคาหุ้นอาจตกลงได้ในอนาคต คุณจึงได้ทำสัญญาซื้อ Put Option ซึ่งให้สิทธิในการขายหุ้น A ในราคาที่กำหนดไว้ล่วงหน้า ซึ่งถ้าหากราคาหุ้นตกลงต่ำกว่าราคาที่ตกลงไว้ คุณจะยังสามารถขายหุ้นในราคาที่สูงกว่า ทำให้ลดการขาดทุนได้อย่างชัดเจน

ข้อดีและความเสี่ยงของ Hedging

ข้อดีและความเสี่ยงของ Hedging

แน่นอนว่าการ Hedging เป็นการป้องกันและลดความเสี่ยงในการลงทุนได้เป็นอย่างดี แต่ถึงกระนั้นกลยุทธ์นี้ก็มีความซับซ้อนเล็กน้อย การทำความเข้าใจข้อดีและข้อเสียจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ ถ้าหากคุณจะเลือกใช้กลยุทธ์นี้ในการป้องกันความเสี่ยง

ข้อดีของ Hedging

1.ลดความเสี่ยงจากความผันผวนของราคา
การทำ Hedging เป็นเครื่องมือที่ดีในการป้องกันความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของราคาสินทรัพย์อย่างเช่น หุ้น, สินค้าโภคภัณฑ์, สกุลเงิน ฯลฯ ทำให้นักลงทุนสามารถป้องกันผลกระทบที่เกิดจากการผันผวนของตลาดได้เป็นอย่างดี เช่น การล็อกราคาน้ำมันล่วงหน้าเมื่อรู้ว่าราคาน้ำมันจะขึ้น หรือการป้องกันการขาดทุนในพอร์ตการลงทุนหากราคาหุ้นตกลงอย่างรวดเร็ว

2.เพิ่มความมั่นใจในการลงทุน
การป้องกันความเสี่ยงไม่เพียงแค่ลดความเสี่ยงเท่านั้น แต่ยังสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนหรือนักธุรกิจในการลงทุนที่มีความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดที่มีความผันผวนสูง อย่างตลาด Forex ที่เปิดการเทรดซื้อขายคู่สกุลเงิน

3.เพิ่มความยึดหยุ่นในการเทรด
Hedging ไม่ได้เป็นแค่เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงเท่านั้น แต่ยังช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในการจัดการพอร์ตการลงทุนด้วย เทรดเดอร์สามารถปรับตำแหน่งการเทรดให้สอดรับกับสภาวะตลาดที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้ ช่วยให้รักษาความสมดุลและคุมความเสี่ยงได้ในเวลาเดียวกัน

ความเสี่ยงและข้อเสียของ Hedging

1.ต้นทุนและงบประมาณที่สูง
การ Hedging มักมาพร้อมกับค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม เช่น ค่าธรรมเนียมในการซื้อออปชั่น (Option Premium) หรือค่าธรรมเนียมในการทำสัญญาฟิวเจอร์ส รวมไปถึงการกระจายการลงทุน ด้วยค่าใช้จ่ายเหล่านี้อาจส่งผลกับผลกำไรของนักลงทุนได้ โดยเฉพาะในกรณีที่ความเสี่ยงที่ป้องกันไว้ไม่เกิดขึ้น

2.จำกัดผลกำไรที่ได้รับ
แม้ว่าจะช่วยลดความเสี่ยงลงได้ แต่ก็อาจจำกัดผลกำไรที่อาจได้รับ ยกตัวอย่างเช่น หากนักลงทุนทำ Hedging ด้วยการซื้อ Put Option ในหุ้นหนึ่ง และราคาของหุ้นกลับเพิ่มมากขึ้น นักลงทุนอาจไม่ได้รับผลกำไรเต็มที่ได้จากการเพิ่มของราคาหุ้น เพราะได้เสียค่าใช้จ่ายในการซื้อ Option เพื่อป้องกันความเสี่ยงไปแล้ว

3.ความซับซ้อนของกลยุทธ์
แม้การทำ Hedging จะไม่ใช่เรื่องที่ยากซับซ้อนจนเกินความเข้าใจ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย โดยเฉพาะในกรณีที่ใช้เครื่องมือทางการเงินอย่างอนุพันธ์ที่ซับซ้อน และต้องรู้จักโลกของการเทรดอย่างแท้จริง ซึ่งสำหรับนักลงทุนที่ไม่มีประสบการณ์หรือมีความรู้ไม่เพียงพออาจใช้กลยุทธ์ที่ผิดพลาด หรือใช้ในวิธีการที่ไม่เหมาะสม ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงและการขาดทุนได้มากขึ้นเช่นกัน

บทสรุป

การทำ Hedging ไม่ใช่แค่กลยุทธ์สำหรับนักลงทุนเท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องมือที่ดีในการช่วยปกป้องพอร์ตการลงทุนจากความผันผวนของตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเหมาะสำหรับนักลงทุนในทุกระดับ การป้องกันความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของราคาสินทรัพย์และความไม่แน่นอนทางการเงินช่วยให้นักลงทุนรู้สึกมั่นคงมากขึ้น และยังช่วยบริหารความเสี่ยงในการลงทุนระยะยาวได้ดีขึ้นอีกด้วย

แม้การทำ Hedging อาจมีต้นทุนและความซับซ้อนอยู่พอตัว แต่หากมีการเรียนรู้ละเข้าใจวิธีอย่างถูกต้อง กลยุทธ์นี้จะสามารถเป็นเกราะป้องกันชั้นดีให้กับการรักษามูลค่าการลงทุน ช่วยให้นักลงทุนวางแผนรับมือกับความผันผวนในตลาดได้อย่างมั่นคง ดังนั้น สำหรับนักลงทุนมือใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้นลงทุน การศึกษาและทำความเข้าใจในเรื่อง Hedging จะกลายเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่ช่วยลดความเสี่ยง และเพิ่มความมั่นใจในการลงทุนได้อย่างยั่งยืนแน่นอน

ลงทะเบียนสัมมนา