ไม่ว่าจะหุ้น ฟอเร็กซ์ (Forex) หรือสินทรัพย์ทางการเงินในตลาดการเงิน การจับจังหวะการเคลื่อนไหวของราคาและรู้แนวโน้มของตลาดเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับเทรดเดอร์ เพราะมันช่วยให้พวกเขาสามารถตัดสินใจเปิดการเทรดได้อย่างถูกต้อง พร้อมทำกำไรได้แบบทันท่วงที ซึ่งหนึ่งในเครื่องมือที่จะมาช่วยวิเคราะห์แนวโน้มตลาดได้เป็นอย่างดี ได้รับการยอมรับและมีการใช้งานกันอย่างแพร่หลายเลยคือ Exponential Moving Average (EMA) อินดิเคเตอร์ (Indicator) สุดคลาสสิกที่ไม่ว่าคุณจะเป็นเทรดเดอร์มือใหม่ หรือมือโปรก็ควรต้องรู้จัก
ซึ่งในบทความนี้ เราจะพาคุณไปทำความรู้จักกับ EMA อย่างละเอียดกัน ว่ามันคืออะไร ทำไมถึงเป็นเครื่องมือวิเคราะห์แนวโน้มตลาดได้ มีจุดเด่นอะไรบ้างที่นำไปใช้ในการเทรดจริง และถ้าหากคุณกำลังมองหาเครื่องมือที่ช่วยเพิ่มความแม่นยำในการวิเคราะห์และทำให้การเทรดของคุณราบรื่นไปได้ด้วยดี บทความนี้พร้อมจะตอบโจทย์ให้คุณอย่างแน่นอน
EMA คืออะไร?
EMA หรือ Exponential Moving Average (ค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่แบบเอ็กซ์โพเนนเชียล) คือ อินดิเคอเตอร์ทางเทคนิคที่ใช้ในการวิเคราะห์การเคลื่อนไหวของราคาสินทรัพย์ต่าง ๆ ในตลาดการเงิน โดยตัว EMA เป็นรูปแบบหนึ่งของค่าเคลื่อนที่ MA (Moving Average) เป็นเส้น แต่จะไม่เน้นการเคลื่อนไหวของราคาโดยรวม แต่ให้ความสำคัญกับราคาล่าสุดมากกว่าข้อมูลในอดีต ทำให้ตัว EMA ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาที่เกิดขึ้นในช่วงล่าสุดได้เร็วกว่า SMA
ซึ่งในตลาดการเทรด การรู้ว่าราคาล่าสุดของสินทรัพย์ต่าง ๆ จะเคลื่อนไหวไปในทิศทางในเป็นเรื่องสิ่งสำคัญมาก เทรดเดอร์หลายคนจึงเลือกที่จะหยิบ EMA มาใช้วิเคราะห์และตัดสินใจในช่วงเวลาที่ราคากำลังเปลี่ยนแปลง ทั้งในกราฟหุ้น คริปโต ฟอเร็กซ์ (Forex) และสินทรัพย์อื่น ๆ
ทำไม EMA ถึงเป็นเครื่องมือวิเคราะห์แนวโน้มที่เทรดเดอร์ต้องรู้
การจับแนวโน้ม (Trend) ในตลาดการเงินมีความสำคัญอย่างมาก เพราะแนวโน้มเป็นตัวบ่งชี้ทิศทางของตลาดและราคาว่ากำลังจะเคลื่อนไปในทิศทางไหน ไม่ว่าจะเป็น เทรนขาขึ้น (Up-Trend) หรือเทรดขาลง (Down-Trend) และหนึ่งในเครื่องมือที่ช่วยตอบโจทย์การวิเคราะห์แนวโน้มของตลาดได้เลยคือ Exponential Moving Average (EMA) และเหตุผลที่ว่าทำไมเทรดเดอร์ควรต้องรู้จักไว้ จะมีดังนี้
1. EMA ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาได้รวดเร็ว
ความสามารถพิเศษของ EMA คือการให้ความสำคัญกับราคาล่าสุดของสินทรัพย์ต่าง ๆ มากกว่าข้อมูลในอดีต ซึ่งมีความแตกต่างชัดเจนกับ SMA ที่ให้ความสำคัญกับข้อมูลทั้งหมดในระยะเวลาที่ใช้คำนวณเท่า ๆ กัน โดยการที่ EMA ให้ความสำคัญกับข้อมูลราคาล่าสุดมากกว่า ทำให้จับการเปลี่ยนแปลงของราคาได้รวดเร็วและทันเวลา โดยเฉพาะเมื่อตลาดที่มีความผันผวนสูง การที่เทรดเดอร์รู้การเปลี่ยนแปลงได้เร็ว จะทำให้ตัดสินใจเทรดซื้อ-ขายได้แม่นยำมากขึ้น
2. EMA ช่วยกรองสัญญาณรบกวนจากความผันผวนของตลาดได้
ตลาดการเงินมักมีการเคลื่อนไหวของราคาขึ้นลงแบบไม่เป็นระเบียบอยู่มาก ไม่ว่าจะในช่วงตลาดเปิดการซื้อขาย หรือข่าวสารต่าง ๆ ซึ่งการเคลื่อนไหวเล็ก ๆ น้อยเหล่านี้อาจทำให้เทรดเดอร์สับสนได้ แต่ในอีกด้าน EMA กลับช่วยกรองความผันผวนเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ออกไปได้ ทำให้เรามองเห็นแนวโน้มของตลาดได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะตลาดที่มีความผันผวนสูงอย่างฟอเร็กซ์ (Forex)
3. EMA ปรับใช้ได้กับทุกช่วงเวลาและทุกสินทรัพย์
EMA เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่มีความยืดหยุ่นเป็นอย่างมาก คุณสามารถนำไปใช้กับสินทรัพย์เกือบทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นหุ้น ฟอเร็กซ์ (Forex) หรือแม้แต่น้ำมันและทองคำ นอกจากนี้ยังสามารถนำไปปรับใช้ได้ในทุกช่วงเวลาที่ต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นการเทรดระยะสั้น ( ใช้ EMA 5/10) หรือการเทรดระยะยาว (ใช้ EMA50/200) โดยเทรดเดอร์สามารถเลือกใช้ EMA ที่เหมาะกับสไตล์การเทรดของตัวเองได้เลย
วิธีการคำนวณ EMA
การคำนวณ EMA จะดูมีความซับซ้อนกว่าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับ SMA แต่ก็ไม่ใช่กระบวนการคิดคำนวณที่ยากจนเกินไป โดยการคำนวณ EMA มีสูตรดังต่อไปนี้
โดยค่า α\alphaα (ค่าถ่วงน้ำหนัก) จะเป็นตัวบ่งบอกว่าเราให้ความสำคัญกับราคาปิดปัจจุบันมากแค่ไหน และค่า EMA ที่คำนวณในของวันนี้จะคำนวณจากส่วนผสมระหว่างราคาล่าสุดของวันนี้และค่า EMA ของวันก่อนหน้า โดยให้ความสำคัญกับราคาล่าสุดมากกว่าข้อมูลเก่า
เส้น EMA กับการแสดงสัญญาณในระยะเวลาต่าง ๆ
เทรดเดอร์สามารถตั้งค่าเส้น EMA ได้ตามระยะเวลาที่ต้องการใช้งาน ขึ้นอยู่กับสไตล์การเทรด โดยในแต่ละระยะเวลาของ EMA จะมีความหมายและสัญญาณที่แตกต่างกันไป โดยแบ่งออกเป็นระยะสั้น และระยะยาว
1. EMA ระยะสั้น
เส้น EMA ระยะสั้น คือ EMA ที่คำนวณจากจำนวนวันที่น้อย เช่น 5, 10 หรือ 20 วัน ซึ่งจะให้ความสำคัญกับข้อมูลราคาที่ใหม่มากที่สุด ทำให้ EMA ระยะสั้นตอบสนองต่อการเคลื่อนไหวของตลาดการเงินได้อย่างรวดเร็ว และเหมาะสำหรับการจับสัญญาณในตลาดที่มีความผันผวนสูง โดยเทรดเดอร์ที่ต้องการเทรดรายวัน หรือมีการซื้อขายให้จบภายใน 1-2 วัน จะเหมาะกับการใช้ EMA ระยะสั้นเป็นอย่างมาก
ตัวอย่าง: นาย A ใช้ EMA10 ในการเทรดฟอเร็กซ์ (Forex) และเห็นว่าราคาตัดขึ้นเหนือเส้น EMA10 ซึ่งอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกให้เขาเข้าออเดอร์ซื้อ (Buy) เพราะราคามีแนวโน้มจะขึ้นในช่วงสั้น ๆ
แต่อย่างไรก็ดี EMA ระยะสั้นควรมีข้อระวังด้วยเช่นกัน เพราะค่าที่ได้อาจมีความผันผวนมากว่าระยะยาว เนื่องจากให้ความสำคัญกับข้อมูลราคาล่าสุดเป็นอย่างมาก ซึ่งหมายความว่าอาจมีสัญญาณผิดพลาดเกิดขึ้นได้ง่ายด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อเผชิญกับตลาดที่มีการเคลื่อนไหวแบบไม่มีแนวโน้ม (Side way) การใช้งาน EMA ระยะสั้น จึงมักมาควบคู่กับเครื่องมืออื่น ๆ ด้วยเสมอ เช่น RSI หรือ MACD เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการวิเคราะห์ตลาด
2. EMA ระยะยาว
เส้น EMA ระยะยาว คือ EMA ที่ใช้ระยะเวลาในการคำนวณนานขึ้น เช่น 50,100 หรือ 200 วัน ทำให้ข้อมูลราคาล่าสุดมีผลต่อค่า EMA น้อยลงเมื่อเทียบกับ EMA ระยะสั้น ซึ่งหมายความว่า EMA ระยะยาวจะตอบสนองต่อการเคลื่อนไหวของราคาล่าสุดได้ช้ากว่า แต่ให้ภาพรวมของแนวโน้มของราคาได้ชัดเจนมากขึ้นแทน
ตัวอย่าง: นาย B กำลังเทรดในตลาดหุ้น และใช้ EMA200 ในกราฟรายวัน โดยถ้าหากราคาหุ้นเคลื่อนที่เหนือเส้น EMA200 เมื่อไรนั่นอาจหมายความว่าตลาดกำลังอยู่ในแนวโน้มขาขึ้น (Up-Trend) ในระยะยาว ซึ่งอาจเป็นโอกาสดีให้คุณถือครองหุ้นระยะยาว
การนำ EMA มาใช้งานในการเทรดจริง
Exponential Moving Average (EMA) เป็นหนึ่งในเครื่องมือทางเทคนิค (Indicator) ที่เทรดเดอร์สามารถนำมาใช้งานได้หลายวิธี เพื่อช่วยในการวิเคราะห์ตลาด และตัดสินใจซื้อขายได้อย่างถูกต้อง โดยการนำ EMA มาใช้งานในการเทรดจริงจะมีดังนี้
1. ระบุแนวโน้มของตลาด
หนึ่งในหน้าที่หลักของ EMA เลยคือ การช่วยให้เทรดเดอร์มองเห็นแนวโน้มหลักของตลาดได้อย่างชัดเจน โดยสามารถบ่งบอกว่าตลาดกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น (Up Trend) หรือขาลง (Down Trend) ผ่านการวางเส้นค่าเฉลี่ย (Moving Average) ลงในกราฟราคา
ยกตัวอย่างเช่น นาย C กำลังวิเคราะห์กราฟราคาทองโดยใช้เส้น EMA 50 หากราคาทองมีการเคลื่อนที่เหนือเส้น EMA 50 มาอย่างต่อเนื่อง อาจเป็นสัญญาณว่าราคาทองนี้อยู่ในช่วงแนวโน้มขาขึ้น คุณอาจพิจารณาเปิดออเดอร์ซื้อ (Buy) เพื่อทำกำไรจากแนวโน้มนี้ ในทางกลับกัน หากราคาทองลดลงต่ำกว่าเส้น EMA 50 อาจเป็นสัญญาณว่าแนวโน้มขาลงกำลังจะเกิดขึ้น คุณอาจพิจารณาเปิดออเดอร์ขาย (Sell) เพื่อทำกำไรได้ด้วยเช่นกัน
*** เส้น EMA ที่มีระยะเวลาสั้น เช่น EMA 5 / 10 /20 อาจไม่ได้บ่งบอกถึงแนวโน้มของตลาดได้อย่างชัดเจน เพราะเน้นที่การให้ข้อมูลราคาล่าสุดมากกว่า เหมาะสำหรับการจับจังหวะการเปิดออเดอร์ซื้อ-ขายที่รวดเร็ว แต่ไม่เหมาะกับการมองแนวโน้มใหญ่ของตลาด ถ้าอยากรู้แนวโน้มของตลาดควรใช้เส้น EMA ที่มีระยะเวลายาว เช่น 50 / 100 /200 เป็นต้น
2. จุดตัดเส้น EMA
เส้น EMA มักถูกนำมาใช้เพื่อดูแนวโน้มของตลาด ผ่านการใช้เส้น EMA สองเส้น เช่น เส้น EMA ที่มีระยะสั้นกับเส้น EMA ระยะยาว มาดูควบคู่กัน โดยมี 2 ลักษณะที่จะพบเห็นได้บ่อยดังนี้
- จุดตัดขึ้น: เมื่อเส้น EMA ที่มีระยะสั้น ขึ้นมาตัดกับเส้น EMA ระยะยาว เช่น ถ้าเส้น EMA 50 ขึ้นมาตัดกับ EMA 200 อาจจะเป็นสัญญาณบ่งบอกได้ว่าตลาดมีแนวโน้มที่ราคาที่จะขึ้น
- จุดตัดลง: เช่นเดียวกัน เมื่อเส้น EMA ที่มีระยะสั้น ลงมาตัดกับเส้น EMA ระยะยาว เช่น เส้น EMA 50 ลงมาตัดกับ EMA 200 อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าตลาดมีแนวโน้มที่ราคาอาจจะลดลง
3. ใช้เป็นแนวรับ – แนวต้าน
เส้น EMA ไม่เพียงแค่ทำหน้าที่บ่งบอกแนวโน้มของตลาดการเงินได้เท่านั้น แต่ยังสามารถทำหน้าที่เป็น แนวรับและแนวต้าน ในกราฟราคาได้อีกด้วย โดยตัวเส้นจะทำหน้าที่เป็นเส้นแบ่งที่ชัดเจน ที่ช่วยให้เทรดเดอร์มองเห็นพื้นที่ราคาว่าจะหยุดหรือดีดขึ้น – ลงเมื่อแตกเส้นนี้
- แนวรับ: เมื่อราคาเคลื่อนที่ลงมาใกล้เส้น EMA และไม่สามารถทะลุลงไปได้ และราคามักจะเด้งกลับขึ้นจากเส้นนี้ เส้นนี้จะทำหน้าที่เป็นแนวรับ
- แนวต้าน: เมื่อราคาขึ้นไปใกล้เส้น EMA และไม่สามารถทะลุผ่านขึ้นไปได้ แล้วราคามักจะย้อนกลับลงมา เส้นนี้จะทำหน้าที่เป็นแนวต้าน
แต่อย่างไรก็ดีเส้น EMA ไม่ได้รับประกันว่าจะทำหน้าที่เป็นแนวรับและแนวต้านไปได้ตลอดทุกช่วงเวลา เพราะบางช่วงเวลา กราฟราคาอาจจะขึ้น – ลงทะลุเส้นไปได้ด้วยเช่นกัน ดังนั้นจึงไม่ควรใช้เส้น EMA ในการตรวจเช็คแนวรับและแนวต้านเพียงอย่างเดียว ควรใช้เครื่องมือตัวอื่นเช่น RSI เข้ามาช่วยยืนยันความแน่นอนในส่วนนี้ด้วย
ข้อดีและข้อจำกัดของ EMA
แม้ EMA จะเป็นอินดิเคเตอร์ที่น่าใช้งานและมีประโยชน์ที่ตอบโจทย์กับเทรดเดอร์ในการวิเคราะห์ตลาดการเงินมากแค่ไหนก็ตาม อย่างไรก็ดีควรต้องรู้จักข้อดีและข้อจำกัดของเครื่องมือตัวนี้ด้วยเช่นกัน เพื่อให้สามารถนำไปใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ข้อดี
- ตอบสนองต่อการเปลี่ยนของตลาดได้ทันท่วงที: EMA ให้ความสำคัญกับข้อมูลราคาปิดล่าสุดเป็นหลัก ทำให้สามารถจับการเปลี่ยนแปลงของตลาดได้อย่างรวดเร็วผ่านราคาได้ จึงเหมาะกับกับการเทรดในตลาดที่มีความผันผวนอยู่ตลอดเวลา
- ใช้ได้หลากหลายในตลาดการเงิน: EMA ยังสามารถนำไปใช้วิเคราะห์ตลาดการเงินได้หลากหลายประเภทไม่ว่าจะเป็น ตลาดหุ้น, ฟอเร็กซ์ (Forex) และสินค้าโภคภัณฑ์อื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นสินทรัพย์ประเภทใด ก็สามารถนำไปปรับใช้เพื่อดูแนวโน้มของตลาด และจับสัญญาณซื้อขายได้
- เหมาะกับการเทรดซื้อ – ขายระหว่างวัน: เนื่องจาก EMA ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงราคาได้รวดเร็ว จึงเหมาะกับการเทรดแบบรายวัน (Day Trading) ผ่านการใช้ EMA ระยะสั้น เช่น EMA 10/20 ซึ่งช่วยให้เทรดเดอร์เห็นการเปลี่ยนแปลงราคาที่เกิดขึ้นได้และทำการเทรดซื้อขายได้ในช่วงเวลาสั้น ๆ
ข้อจำกัด
- เกิดสัญญาณผิดพลาดในสภาวะตลาดที่ไม่มีเทรนด์: ในช่วงตลาดที่ไม่มีแนวโน้มชัดเจน (Side Way) การใช้ EMA อาจให้สัญญาณที่ผิดพลาดได้ เนื่องจาก EMA ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาได้เร็วมาก เมื่อราคาแกว่งไปมาในช่วงสั้น ๆ เส้น EMA อาจให้สัญญาณซื้อขายบ่อยครั้ง ซึ่งสัญญาณเหล่านี้อาจจะไม่แม่นยำในสภาวะตลาดที่มีทิศทางแน่ชัด
- ไม่สามารถคาดเดาราคาในอนาคตได้: ถึงแม้ EMA จะเป็นเครื่องมือช่วยวิเคราะห์แนวโน้มตลาดและหาสัญญาณซื้อขายได้ดี แต่เครื่องมือตัวนี้ก็ใช้เพียงข้อมูลราคาในอดีตมาเฉลี่ยออกมาเป็นเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่เท่านั้น จึงกล่าวได้ว่า EMA ไม่สามารถบอกได้ว่าราคาจะเคลื่อนที่ไปทางใดในอนาคต เป็นเพียงเครื่องมือที่ช่วยให้เรามองเห็นแนวโน้มของตลาดจากข้อมูลที่เกิดขึ้นเท่านั้น
บทสรุป
กล่าวให้เข้าใจง่าย ๆ EMA เป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์อย่างมากในการวิเคราะห์ตลาด โดยเฉพาะในการหาจุดเข้าและแนวโน้มของตลาด เนื่องจากมันสามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังมีความยืดหยุ่นสูง สามารถนำไปใช้ได้กับผลิตภัณฑ์การเงินหลากหลาย เช่น หุ้น, ฟอเร็กซ์, และคริปโต อย่างไรก็ตาม EMA เป็นเพียงเครื่องมือที่ช่วยวิเคราะห์แนวโน้มภาพรวมของตลาด ไม่ได้เป็นเครื่องมือที่สามารถรับประกันได้ว่าการซื้อขายของคุณจะทำกำไรหรือแม่นยำเสมอไป
ดังนั้น หากคุณต้องการเพิ่มความแม่นยำในการเทรดและเพิ่มโอกาสในการทำกำไร ควรใช้เครื่องมืออินดิเคเตอร์อื่น ๆ มาช่วยเสริม เช่น RSI, MACD, หรือ SMA เป็นต้น ซึ่งแต่ละเครื่องมือก็มีบทบาทและหน้าที่แตกต่างกันออกไป การทำความเข้าใจวิธีการทำงานของอินดิเคเตอร์แต่ละตัวจะช่วยให้คุณเลือกใช้งานได้ตรงตามเป้าหมาย และทำให้การเทรดของคุณมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น