Zone Recovery กลยุทธ์บริหารความเสี่ยงขั้นสูงของเทรดเดอร์

Zone recovery
สารบัญ

Zone Recovery เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ในการบริหารความเสี่ยงขั้นสูงที่ออกแบบมาเพื่อช่วยให้เทรดเดอร์สามารถพลิกสถานการณ์จากการขาดทุนกลับมาทำกำไรได้เสมอ และยังเป็นกลยุทธ์ที่เหมาะกับสภาวะตลาดที่มีความผันผวนสูง อย่าง ตลาด Forex เป็นต้น โดยอาศัยการเปิดออเดอร์ตรงข้ามเมื่อราคาผิดทางเพื่อสร้าง “โซน” ที่ช่วยให้ผู้เทรดสามารถฟื้นฟูการขาดทุนได้

ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีใครสามารถคาดเดา และทำนายการเคลื่อนไหวของตลาดการเงินในโลกของการเทรดได้แบบแม่นยำ 100% และบ่อยครั้งที่ราคาของสินทรัพย์มักเคลื่อนไหวผิดจากที่คาดการณ์ไว้ และเมื่อความเสี่ยงเหล่านี้ก่อตัวกันมากขึ้น กลยุทธ์ที่ใช้ในการกู้คืนความเสียหายจึงกลายเป็นสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้สำหรับการเทรดในระยะยาว

โดยในบทความนี้ เราจะพาคุณไปทำความรู้จักกับ Zone Recovery กันว่ามีหลักการทำงานอย่างไร มีข้อดี ข้อเสียอะไรบ้าง และทำไมเทรดเดอร์มืออาชีพถึงเลือกใช้กลยุทธ์นี้เพื่อรับมือกับตลาดที่มีความผันผวนสูง

Zone Recovery คืออะไร

Zone Recovery เป็นกลยุทธ์ในการเทรดและจัดการความเสี่ยงที่นิยมใช้ในตลาด Forex และตลาดการเงินอื่น ๆ โดยมีเป้าหมายหลักคือการกู้คืนผลขาดทุนจากการเทรดที่ผิดทิศทาง ด้วยการเทรดแก้ไม้ตามตำแหน่งราคาที่เปลี่ยนแปลงไป

โดยกลยุทธ์นี้จะมีความคล้ายกับ Martingale และ Anti-Martingale ที่เน้นรูปแบบการแก้ไม้ (Order) และทบไม้ไปเรื่อย ๆ แต่สิ่งที่แตกต่างกันเลยคือ Zone Recover จะไม่ได้เข้าออเดอร์ในทิศทางเดียวกับออเดอร์แรก แต่จะอยู่ในลักษณะที่อยู่ตรงกันข้าม

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราเริ่มเปิดออเดอร์ตำแหน่ง Buy แต่ราคาสินทรัพย์กลับลดลงไป Zone Recovery จะเริ่มทำงานโดยเปิดออเดอร์ตำแหน่ง Sell เพิ่มเติมเพื่อลดผลกระทบจากการขาดทุน และสร้าง “โซน” ที่ครอบคลุมการเคลื่อนไหวของราคาทั้งสองทิศทาง (Buy-Sell) โดยจะต้องเพิ่มขนาดของออเดอร์ (Lot Size) ไปเรื่อย ๆ หากมีการเปิดออเดอร์ใหม่ในทิศทางตรงกันข้าม

เข้าใจหลักการทำงานของ Zone Recovery

อย่างที่บอกไปในตอนแรกว่า Zone Recovery จะเป็นกลยุทธ์การเทรดรูปแบบแก้ไม้ที่มีความคล้าย Martingale แต่ใช้หลักการ “เปิดออเดอร์ตรงกันข้าม” เพื่อลดความเสี่ยงจากการขาดทุนต่อเนื่อง โดยอธิบายหลักการทำงานของกลยุทธ์ได้ง่าย ๆ แบบนี้

1.เปิดตำแหน่งแรก : สมมติว่าเราเปิดออเดอร์ตำแหน่ง Buy ในสินทรัพย์ A ที่ราคาปัจจุบัน 1,000 และคาดว่าราคาจะต้องเพิ่มขึ้นแน่นอน โดยกำหนดจุดระยะ Take Profit (TP) ไว้ 100 จุด

2.ราคาเคลื่อนไหวผิดทาง: ราคาสินทรัพย์ A กลับลดลงมาที่ 990 ทำให้เกิดการขาดทุนจากตำแหน่ง Buy ที่เปิดไว้ในตอนแรก

3.เปิดออเดอร์ตำแหน่งตรงข้าม : เมื่อราคาถึงจุดที่กำหนด (เช่นตั้งไว้ว่าที่ 990 หรือห่างจากจุด Buy 10 จุด) เราจะเปิดออเดอร์ตำแหน่ง Sell ที่มีขนาด (Lot Size) มากกว่าตำแหน่ง Buy เพื่อเป็นการเทรดทั้งสองทิศทาง

4.สร้างโซนการกู้คืน (Recovery Zone): ราคาของสินทรัพย์จะอยู่ใน “โซน” (1,000 – 990) นี้ไม่ว่าจะเคลื่อนไหวไปในทิศทางใดก็ตาม เช่น ถ้าราคากลับไปเพิ่มขึ้น เราจะเปิดออเดอร์ Buy เพิ่มอีก หรือถ้าราคาลดลงอีก เราจะเปิดออเดอร์ Sell เพิ่ม

5.จุดปรับตำแหน่ง: หากราคายังเคลื่อนไหวในทิศทางที่คาดเดาไม่ได้ กลยุทธ์นี้ก็จะทำการเปิดออเดอร์ตำแหน่งตรงกันข้าม และแก้ไม้ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะถึงจุดที่ราคาขยับไปยังจุดทำกำไร ( TP Buy – 1,100 / TP Sell – 890 )

จากข้างต้นที่อธิบายไว้ หากเราเปิดออเดอร์ Sell และราคากลับเพิ่มขึ้น กลยุทธ์ Zone Recovery จะสร้างโซนการเปิดออเดอร์ But ขึ้นมา ที่จำนวน Lotsize มากกว่า ออเดอร์ ล่าสุด (ในทางตรงกันข้ามถ้าเปิดออเดอร์ Buy ไว้ตอนแรก และราคากลับลดลง จะสร้างโซนและเปิดออเดอร์ Sell ขึ้นมาแทน) เพื่อครอบคลุมการเคลื่อนของกราฟราคาทั้งขาขึ้นและขาลง และเมื่อราคาพุ่งไปยังจุดทำกำไร (TP) ใดก่อน จะทำการปิดออเดอร์ทั้งหมดเพื่อทำกำไรและกู้คืนเงินที่ขาดทุนไปได้ด้วย

ตัวอย่างการใช้ Zone Recovery กับการเทรด

เพื่อให้เข้าใจหลักการทำงานและการใช้งานจริงของ Zone Recovery ในการเทรดจริง มาลองดูตัวอย่างการใช้งานกันเลย

สมมติว่านาย A เปิดออเดอร์ที่ 1 ตำแหน่ง Buy ของคู่ XAUUSD ที่ราคา 1,900.00 ด้วยขนาด 1.00 Lot (100 oz)

  • ทุก 1 pip ที่ราคาเคลื่อนไหวจะเท่ากับกำไร/ขาดทุน $10 ต่อ 1 Lot
  • กำหนดจุดทำกำไร (TP) ไว้ที่ 300 pip

แต่ราคากลับไม่เป็นใจ เคลื่อนไหวผิดทางและลงมาที่ 1,899.00 ซึ่งส่งผลให้ขาดทุน จึงได้ทำการเปิดใช้งาน Recovery Zone และเปิดออเดอร์ที่ 2 ตำแหน่ง Sell ที่ราคา 1,899.00 ด้วยขนาด 2.00 Lot (ใช้การแก้ไม้แบบ x2)

“ตอนนี้ราคา XAUUSD ที่ 1,900.00 – 1,899.00 จะอยู่ใน Recovery Zone” (ระยะโซนคือ 100 จุด)

แต่กลับกลายเป็นว่าราคากลับขึ้นมาที่ 1,900.00 อีกครั้ง คุณจึงได้ทำการเปิดออเดอร์ที่ 3 ตำแหน่ง Buy ด้วยขนาด 4.00 Lot ซึ่งแน่นอนว่ากราฟราคากลับไม่เป็นใจอย่างมาก ราคากลับลดลงไปยังที่ 1,899.00

ในครั้งนี้คุณจึงเปิดออเดอร์ที่ 4 ตำแหน่ง Sell ด้วยขนาด 8.00 Lot และครั้งนี้ราคาได้เลือกทางลงไปถึงจุดทำกำไร (TP) ของออเดอร์ Sell ที่ 1,896.00 คุณจึงได้ทำการปิดออเดอร์ทั้งหมด 4 ไม้ที่เปิดไว้ โดยสรุปผลลัพธ์ได้ดังนี้

การคำนวณกำไร/ขาดทุน

ออเดอร์ที่ 1 (Buy) ขนาด 1.00 Lot
ขาดทุนทั้งหมด 400 pip (จากราคา 1,900 -> 1,896)
ขาดทุนรวม = 400 pip x $10 x 1 Lot = -4,000$

ออเดอร์ที่ 2 (Sell) ขนาด 2.00 Lot
ทำกำไรทั้งหมด 300 pip (จากราคา 1,899 -> 1,896)
กำไรรวม = 300 pip x $10 x 2 Lot = +6,000$

ออเดอร์ที่ 3 (Buy) ขนาด 4.00 Lot
ขาดทุนทั้งหมด 400 pip (จากราคา 1,900 -> 1,896)
ขาดทุนรวม = 400 pip x $10 x 4 Lot = -16,000$

ออเดอร์ที่ 4 (Sell) ขนาด 8.00 Lot
ทำกำไรทั้งหมด 300 pip (จากราคา 1,899 -> 1,896)
กำไรรวม = 300 pip x $10 x 8 Lot = +24,000$

ผลรวมของทั้งหมด
ขาดทุน: [-4,000$ (ไม้ที่ 1)] + [-16,000$ (ไม้ที่ 3) = -20,000$
กำไร: 6,000$ (ไม้ที่ 2) + 24,000$ (ไม้ที่ 4) = +30,000$

กำไรสุทธิ
กำไร/ขาดทุนสุทธิ: -20,000$ + 30,000$ = +10,000$

จากตัวอย่างนี้จะเห็นได้ว่า Zone Recovery สามารถช่วยให้เราจัดการกับความเสี่ยงในกรณีที่ราคาเคลื่อนไหวไม่เป็นไปตามคาด โดยการเปิดออเดอร์ใหม่ในทิศทางตรงข้ามและทบ Lot Size ซึ่งในที่สุดเมื่อราคาลงไปถึงจุดทำกำไร (TP) ที่ตั้งไว้ที่ 300 จุด คุณสามารถทำกำไรได้สุทธิ 10,000$

นี่คือตัวอย่างการใช้กลยุทธ์ Zone Recovery ที่สามารถคืนทุนและทำกำไรได้ในสภาวะที่ตลาดมีความผันผวนสูง ราคามีการเคลื่อนไหวทั้งขึ้นและลงอย่างมาก

**ตัวอย่างนี้เป็นเพียงแค่ให้เห็นภาพรวมของการใช้งาน Zone Recovery แต่ในการเทรดจริง จะมีส่วนที่ต้องระวัง และข้อจำกัดต่าง ๆ เช่น การคลาดเคลื่อนของราคา, ค่า Spread /Commission, ค่า Margin / Leverange ฯลฯ

ข้อดีและข้อเสียของ Zone Recovery

เมื่อเห็นตัวอย่างการใช้งานของ Recovery Zone กันไปแล้ว ทีนี้มาลองดูข้อดีและข้อเสียของกลยุทธ์กันเลยดีกว่า ว่ามีอะไรบ้างที่เทรดเดอร์ควรต้องรู้ หากต้องการจะใช้งานกลยุทธ์นี้ในการเทรด

ข้อดีของ Zone Recovery

ข้อดีของ Zone Recovery

กู้คืนการขาดทุนได้
ข้อดีหนึ่งของ Zone Recovery เลยคือ ความสามารถในการกู้คืนการขาดทุนได้เป็นอย่างดี แม้ราคาของสินทรัพย์ในตลาดจะมีการเคลื่อนที่ผิดทาง โดยถ้ารู้จักการปรับและเปิดออเดอร์ที่เหมาะสม ผู้เทรดสามารถพลิกกลับมามีกำไรได้อีกด้วย

กลยุทธ์การจัดการความเสี่ยง
กลยุทธ์นี้มีจุดเด่นอีกอย่างเลยคือ เป็นการช่วยกระจายความเสี่ยง โดยการสร้างโซนที่ครอบคลุมการเคลื่อนไหวของราคาทั้งสองทิศทางขึ้นมา ทำให้ไม่ต้องพึ่งพาการคาดเดาที่แม่นยำ 100% เพียงแค่หวังให้ราคาขยับไปทิศทางใดทิศทางหนึ่งแบบแน่นอนเท่านั้น

กลยุทธ์การเทรดที่ยืดหยุ่น
กลยุทธ์นี้นับว่าเป็นกลยุทธ์การเทรดที่มีความยืดหยุ่นเป็นอย่างมาก ผู้เทรดสามารถปรับแต่ง “โซน” รูปแบบการเทรด ขนาดการลงทุน และจุดทำกำไรได้ในแบบของตัวเองเลย ซึ่งทำให้กลยุทธ์นี้สามารถใช้ได้ในหลาย ๆ สภาวะของตลาดการเงิน

ข้อเสียของ Zone Recovery

ความซับซ้อนของการใช้งาน
Zone Recovery นับเป็นกลยุทธ์ที่มีความซับซ้อนพอตัว หากไม่มีการศึกษาและเรียนรู้มากพอ นอกจากนี้ต้องติดตามตลาดอย่างต่อเนื่องและการตัดสินใจที่รวดเร็วในการเปิดออเดอร์ และปิดทำกำไรด้วย โดยถ้าหากไม่มีการวางแผนที่ดีพอ กลยุทธ์นี้อาจทำให้ผู้เทรดขาดทุนได้ด้วยเช่นกัน

ต้องการเงินทุนอย่างมาก
การเปิดออเดอร์ Buy / Sell สลับไปกันไปมาเรื่อย ๆ และต้องเพิ่มขนาดออเดอร์ (Lot Size) ทบไม้ไปเรื่อย ๆ ทำให้การใช้เงินทุนเยอะพอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเจอสภาวะที่ตลาดเคลื่อนไหวผิดทิศทาง หรือสลับกันไปมา (Side Way) ด้วยปัจจัยเหล่านี้ทำให้ผู้เทรดอาจต้องเปิดออเดอร์เพิ่ม และอาจทำให้เกิดความเสี่ยงสู่การพอร์ตแตกได้ (เงินหมด)

ความเสี่ยงเมื่อเจอตลาดนิ่ง
กลยุทธ์นี้จะใช้งานได้เป็นอย่างดีในกรณีที่เจอตลาดที่มีความผันผวนสูง แต่หากตลาดเคลื่อนในกรอบแคบ หรืออยู่ในรูปแบบ Side Way อาจทำให้ Zone Recovery ไม่ทำงานได้อย่างเต็มที่ และเพิ่มความเสี่ยงในการต้องเปิดออเดอร์เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ อีกด้วย

ข้อเสียของ Zone Recovery

บทสรุป

Zone Recovery นับเป็นกลยุทธ์การเทรดที่น่าสนใจ ด้วยการกู้คืนการขาดทุน พร้อมกำไรได้โดยไม่ต้องรอให้ราคากลับไปยังจุดที่เปิดการเทรดในครั้งแรก ผ่านการสร้าง “โซน” ที่ช่วยจัดการความเสี่ยง โดยการเปิดออเดอร์ตำแหน่งตรงกันข้ามเมื่อราคาผิดทาง เพื่อให้เรามีโอกาสในการพลิกเกมกลับมาทำกำไรได้ หรืออย่างน้อยที่สุดก็ขาดทุนได้น้อยลงที่สุด ซึ่งการใช้กลยุทธ์นี้ต้องการวางแผนการใช้งานเป็นอย่างดี และต้องติดตามตลาดอย่างต่อเนื่อง เพราะถ้าใช้ผิดวิธี ความเสี่ยงที่ควรจะลดลงจะกลายเป็นเพิ่มมากขึ้นแทน

ซึ่งแน่นอนว่า Zone Recovery เหมาะกับเทรดเดอร์ที่ชอบบริหารความเสี่ยงแบบยืดหยุ่น ไม่ต้องทิ้งการเทรดเมื่อราคาไม่เป็นดั่งใจ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องระวังเรื่องการใช้เงินทุนและการจัดการออเดอร์ต่าง ๆ ที่เปิดไว้ให้ดีด้วย เพราะถ้าจัดการและวางแผนใช้งานได้เป็นอย่างดี กลยุทธ์จะกลายเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังอย่างมากในการเทรด

ลงทะเบียนสัมมนา