กราฟแท่งคืออะไร? ทำความเข้าใจพื้นฐานการวิเคราะห์กราฟอย่างมืออาชีพ

กราฟแท่งคืออะไร?
สารบัญ

ในการเทรด กราฟราคาถือเป็นเครื่องมือพื้นฐานที่เทรดเดอร์ควรรู้จักและเข้าใจอย่างยิ่ง เพราะมันเป็นส่วนช่วยให้เรามองเห็นภาพรวมการเคลื่อนไหวของราคาที่ผ่านมา เหมือนกับเป็น “แผนที่” ที่ช่วยให้เรามองเห็นแนวโน้มและสัญญาณสำคัญในตลาดว่ากำลังจะไปในทิศทางไหน และจะเกิดอะไรขึ้น ซึ่งถ้าเรารู้วิธีอ่านกราฟดี ๆ ก็จะช่วยให้การตัดสินใจเทรดมีความแม่นยำได้มากขึ้น โดยกราฟที่ได้รับความนิยมและใช้งานกันหลัก ๆ เลยมี 2 รูปแบบคือ กราฟแท่ง (Bar Chart) และ กราฟแท่งเทียน (Candlestick Chart)

โดยกราฟแท่งราคาจะเน้นแสดงข้อมูลราคา เปิด-ปิด / สูงสุด-ต่ำสุดในแต่ละช่วงเวลาแบบง่าย ๆ ส่วนแท่งเทียนจะช่วยดูแนวโน้มได้ขัดขึ้นด้วยการแบ่งสีแท่ง ขึ้นอยู่กับราคาในช่วงนั้นว่าขึ้นหรือลง ซึ่งในบทความครั้งนี้ เราจะพาคุณไปทำความรู้จักกับกราฟแท่งทั้ง 2 รูปแบบกัน เพราะการเข้าใจกราฟทั้งสองแบบนี้ไม่เพียงแค่ช่วยให้เราอ่านสัญญาณในตลาดได้ดีขึ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องพื้นฐานที่ช่วยให้เราวางแผนและเทรดได้อย่างมืออาชีพเลยอีกด้วย

กราฟแท่ง (Bar Chart) คืออะไร

กราฟแท่ง (Bar Chart) เป็นเครื่องมือที่เทรดเดอร์ใช้ในการดูข้อมูลการเคลื่อนไหวของราคาในตลาดการเงิน โดยตัวกราฟจะบอกเราได้ว่าราคาขึ้นไปสูงสุด – ต่ำสุดที่เท่าไร และเปิด – ปิดที่ราคาเท่าไรในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ เช่น ช่วง 1 ชั่วโมง (H1) 1 วัน (D1) หรือแม้แต่ 1 นาที (M1) ขึ้นอยู่กับความต้องการวิเคราะห์ของเราเอง โดยลักษณะกราฟแท่งเทียนจะเป็นเส้นแท่ง ๆ เรียงกัน แบบเรียบ ๆ ทำให้เรามองเห็นภาพรวมของตลาดได้

องค์ประกอบของกราฟแท่ง

ในส่วนขององค์ประกอบกราฟแท่งจะแบ่งออกให้เข้าใจได้ง่าย ๆ ด้วยกัน 4 ส่วนเลยคือ

  • High (จุดสูงสุด): คือจุดที่ราคาขึ้นไปสูงที่สุดในช่วงเวลานั้น เป็นตำแหน่งบนสุดของเส้นแท่ง แสดงให้เห็นว่ามีผู้ซื้อเข้ามาผลักดันราคาขึ้นไปมากแค่ไหน
  • Low (จุดต่ำสุด): เป็นจุดที่ราคาต่ำสุดในช่วงเวลาเดียวกัน อยู่ด้านล่างสุดของเส้นแท่ง บ่งบอกถึงแรงกดดันจากผู้ขายที่กดราคาลงไป
  • Open (ราคาเปิด): ราคาที่ตลาดเริ่มต้นในช่วงเวลานั้น ๆ แสดงอยู่เป็นขีดเล็ก ๆ ทางซ้ายของเส้นแท่ง
  • Close (ราคาปิด): ราคาที่ตลาดปิดในช่วงเวลานั้น ๆ เป็นขีดทางขวาของเส้นแท่ง การดูราคาเปิด-ปิดช่วยให้เราเข้าใจได้ว่าราคาในช่วงเวลานั้น ๆ ปรับตัวขึ้นหรือลง

ข้อดีของกราฟแท่ง

  1. ข้อมูลครบถ้วน: กราฟแท่งให้รายละเอียดครบทั้งราคาเปิด ปิด สูงสุด และต่ำสุด ทำให้เข้าใจภาพรวมของการเคลื่อนไหวในแต่ละช่วงเวลาได้ชัดเจน
  2. มองเห็นแนวโน้มง่าย: เมื่อดูกราฟแท่งต่อเนื่องกันหลายแท่ง จะช่วยให้เห็นทิศทางของตลาดว่าเป็นขาขึ้นหรือขาลงได้ชัด ทำให้ช่วยในการตัดสินใจเทรดได้ดีมากขึ้น
  3. อ่านง่าย: กราฟแท่งเข้าใจได้ง่ายไม่ซับซ้อน แม้จะเทรดเดอร์มือใหม่ที่เพิ่งเริ่มเทรด

ข้อจำกัดของกราฟแท่ง

  1. อ่านยากเมื่อใช้กับช่วงเวลาสั้น ๆ : หากใช้กราฟแท่งกับกรอบเวลาที่สั้น เช่น 1 นาที (M1) อาจทำให้เห็นความผันผวนเยอะจนยากต่อการตีความ หรือดูรายละเอียดของกราฟราคา
  2. ไม่ชัดเจนในการบอกการเปลี่ยนแนวโน้ม: บางครั้งกราฟแท่งอาจดูแยกย่อยเกินไป ต้องใช้อินดิเคเตอร์หรือเครื่องมืออื่น ๆ มาช่วยประกอบการวิเคราะห์เพื่อดูแนวโน้มจริง ๆ ได้ชัดเจนขึ้น

กราฟแท่งเทียน (Candlestick Chart) คืออะไร

กราฟแท่งเทียน (Candlestick Chart) เป็นหนึ่งในรูปแบบกราฟที่ได้รับความนิยมที่สุดในกลุ่มเทรดเดอร์ทั่วโลก โดยกราฟรูปแบบนี้ไม่ใช่ของใหม่อะไรเลย แต่มีต้นกำเนิดจากญี่ปุ่น ลักษณะของกราฟแท่งเทียนจะประกอบด้วยแท่งที่แสดงการเคลื่อนไหวของราคาในช่วงเวลาหนึ่ง เช่น ราคาสูง-ต่ำ และราคาเปิด-ปิด แท่งเทียนจะมีทั้งสีเขียว / สีขาว (Bullish) และสีแดง / สีดำ (Bearish) ที่บอกถึงทิศทางของตลาด หากแท่งเป็นสีเขียว ก็หมายความว่าราคากำลังขึ้น แต่ถ้าเป็นสีแดงก็แปลว่าราคาลง

กราฟแท่งเทียนไม่ได้มีแค่ให้เห็นภาพสวย ๆ แต่ยังช่วยบอกแนวโน้มการเคลื่อนไหวของราคา สัญญาณการกลับตัว และความต่อเนื่องของแนวโน้มได้ ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญที่ช่วยให้เทรดเดอร์ตัดสินใจซื้อขายได้อย่างมั่นใจและแม่นยำขึ้น

กราฟแท่ง คืออะไร

ประเภทของกราฟแท่งเทียนสีเขียวและสีแดง

การเข้าใจประเภทและสีของแท่งเทียนช่วยให้เทรดเดอร์สามารถตีความการเคลื่อนไหวของตลาดได้ดียิ่งขึ้น เพราะสีของแท่งเทียนและความยาวของไส้เทียน จะช่วยบ่งบอกถึงแรงของฝั่งผู้ซื้อและผู้ขายในช่วงเวลานั้น ๆ

  • แท่งเทียนสีเขียว /สีขาว (Bullish): แท่งเทียนสีเขียวมักหมายถึงช่วงที่ราคาปิดสูงกว่าราคาเปิด เป็นสัญญาณว่ามีแรงซื้อเข้ามามากกว่าขาย ซึ่งมักจะพบในแนวโน้มขาขึ้น แท่งเทียนสีเขียวที่มี Body ใหญ่และ Wick สั้นแสดงถึงแรงซื้อที่แข็งแกร่ง ขณะที่ Wick ที่ยาวบ่งบอกถึงการเปลี่ยนแปลงของราคาในช่วงนั้น ๆ
  • แท่งเทียนสีแดง /สีดำ (Bearish): แท่งเทียนสีแดงแสดงถึงช่วงที่ราคาปิดต่ำกว่าราคาเปิด หมายถึงมีแรงขายมากกว่าแรงซื้อ ซึ่งเป็นสัญญาณของแนวโน้มขาลง แท่งเทียนสีแดงที่มี Body ใหญ่แสดงถึงแรงขายที่เด่นชัด ส่วนแท่งเทียนสีแดงที่มี Wick ยาว แสดงว่าตลาดกำลังมีความลังเล หรืออาจเป็นสัญญาณว่าราคาอาจเปลี่ยนแนวโน้มในอนาคต

องค์ประกอบของกราฟแท่งเทียน 

แท่งเทียนสีเขียว /สีขาว (Bullish) และ แท่งเทียนสีแดง /สีดำ (Bearish)

กราฟแท่งเทียนแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก ๆ ที่เราต้องสังเกต นั่นก็คือ Body (เนื้อแท่ง) และ Wick / Shadow (ไส้เทียน) ซึ่งแต่ละส่วนมีความหมายเฉพาะตัวและช่วยบอกเรื่องราวของการเคลื่อนไหวของราคาในช่วงเวลานั้น ๆ ได้ดี

  • Body (ตัวแท่งเทียน)

Body หรือตัวแท่งเทียน คือส่วนที่หนาและสีสันแตกต่างกันไปในแต่ละแท่ง ซึ่งจะแสดงถึงระยะระหว่างราคาเปิด (Open) และราคาปิด (Close) ในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ เช่น ใน 1 ชั่วโมง 1 วัน หรือ 1 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับกรอบเวลาที่เราเลือกดู

  1. ถ้า Body เป็น สีเขียว / สีขาว จะหมายถึงราคาปิดสูงกว่าราคาเปิด ซึ่งเป็นสัญญาณว่ามีแรงซื้อเข้ามามาก และบอกว่าราคากำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น (Bullish)
  2. แต่ถ้า Body เป็น สีแดง / สีดำ แปลว่าราคาปิดต่ำกว่าราคาเปิด สื่อถึงแรงขายที่ มากกว่าแรงซื้อ ซึ่งแสดงว่าราคาอาจอยู่ในช่วงขาลง (Bearish)

ขนาดของ Body ยังช่วยบอกถึงความแรงของการเคลื่อนไหวได้ด้วย เช่น ถ้าแท่งมี Body ยาวแปลว่าราคามีการเปลี่ยนแปลงมากในช่วงเวลานั้น อาจหมายถึงแนวโน้มที่แรงหรือการกลับตัวที่ชัดเจน แต่ถ้า Body สั้น ก็แปลว่าแรงซื้อขายในช่วงนั้นไม่สูงนัก ตลาดอาจจะอยู่ในภาวะลังเลหรือ Sideways นั่นเอง

  • Wick / Shadow (ไส้เทียน)

Wick หรือ Shadow ก็คือส่วนที่เป็นเส้นยาว ๆ ขึ้น-ลงจาก Body ของแท่งเทียน ส่วนนี้บอกเราได้ว่าช่วงเวลานั้นราคาเคยขึ้นไปสูงสุดหรือลงไปต่ำสุดเท่าไหร่ ซึ่งแบ่งออกเป็นสองส่วนคือ

  • Upper Wick หรือไส้บน คือส่วนที่แสดงราคาสูงสุด (High) ของช่วงเวลา หมายถึงราคาขึ้นไปสูงสุดที่จุดนี้ก่อนจะถูกดึงลงมา
  • Lower Wick หรือไส้ล่าง แสดงถึงราคาต่ำสุด (Low) ของช่วงเวลา แปลว่าราคาตกลงไปถึงจุดนี้ก่อนจะเด้งกลับขึ้นมา

ความยาวของ Wick บ่งบอกถึงแรงดันของตลาดได้เช่นกัน ถ้า Wick ยาว ๆ ก็แปลว่าในช่วงเวลานั้นมีการต่อสู้กันระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายอย่างหนัก แต่สุดท้ายแล้วราคาก็กลับมาปิดใกล้กับราคาที่เปิด ซึ่งอาจบอกเป็นนัยว่าตลาดอาจมีโอกาสกลับตัว หรือยังไม่มีความแน่นอนในทิศทางของราคา

ความแตกต่างระหว่างกราฟแท่งและแท่งเทียน

เมื่อเข้าใจถึงลักษณะของกราฟแท่งทั้ง 2 รูปแบบแล้ว ทีนี้มาลองดูความแตกต่างระหว่างกราฟแท่ง (Bar Chart) และกราฟแท่งเทียน (Candlestick Chart) กันเลยดีกว่า ว่าทั้งกราฟทั้ง 2 มีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง

  1. การแสดงทิศทางของราคา: กราฟแท่งเทียนมักใช้สีและขนาดของ Body ช่วยบอกทิศทางและความแข็งแรงของแนวโน้มได้ง่ายขึ้น เช่น แท่งเทียนสีเขียวบอกถึงแนวโน้มขาขึ้น ส่วนแท่งสีแดงบ่งบอกถึงแนวโน้มขาลง ขณะที่กราฟแท่งใช้เพียงเส้นและขีดในการแสดง ซึ่งต้องอาศัยการเปรียบเทียบขีดซ้ายและขวา ทำให้การอ่านแนวโน้มอาจไม่ชัดเจนเท่ากราฟแท่งเทียน
  1. ความชัดเจนในการบอกแนวโน้มและการกลับตัว: ด้วยโครงสร้างของแท่งเทียนที่มีการใช้สีและรูปแบบที่หลากหลาย กราฟแท่งเทียนจึงสามารถสื่อถึงสัญญาณการกลับตัวหรือการต่อเนื่องของแนวโน้มได้ดีกว่า เช่น รูปแบบ Hammer, Doji หรือ Engulfing ซึ่งมีความสำคัญในการใช้ตัดสินใจในการเทรด แต่ในอีกด้านกราฟแท่งเองก็ไม่สามารถให้สัญญาณการกลับตัวได้ชัดเจนเท่าไรนัก
  1. การใช้งานในการวิเคราะห์ทางเทคนิค: กราฟแท่งเหมาะสำหรับการดูข้อมูลพื้นฐานแบบเรียบง่าย เหมาะกับผู้ที่ต้องการวิเคราะห์แนวโน้มเบื้องต้นหรือเทรดในระยะสั้น ในขณะที่กราฟแท่งเทียนจะดูเหมาะสำหรับการวิเคราะห์เชิงเทคนิคที่ลึกขึ้น เพราะสามารถดูแนวโน้มได้รวดเร็วและเข้าใจง่ายกว่า อีกทั้งยังสามารถวิเคราะห์รูปแบบแท่งเทียนต่าง ๆ ที่ช่วยให้การตัดสินใจซื้อขายมีความแม่นยำมากขึ้น

โดยทั่วไปแล้ว กราฟแท่งเทียนนั้นดูได้ง่ายและสะดวกกว่าสำหรับเทรดเดอร์ทั่วไปมากกว่า เพราะสามารถใช้สีและรูปแบบช่วยบอกทิศทางได้ชัดเจน ช่วยลดเวลาในการสังเกตและทำให้เข้าใจแนวโน้มได้อย่างรวดเร็ว ยิ่งในสถานการณ์ที่ต้องการการตัดสินใจรวดเร็ว การใช้กราฟแท่งเทียนอาจจะได้เปรียบกว่า จึงทำให้กราฟแท่งเทียนเป็นหนึ่งในรูปแบบกราฟที่ได้รับความนิยมมากที่สุด 

แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าเป็นเทรดเดอร์ที่ชอบความเรียบง่าย ที่ไม่ต้องการวิเคราะห์ซับซ้อน กราฟแท่งก็เป็นตัวเลือกที่ดีในการดูข้อมูลพื้นฐานของราคา และตัดสินใจเทรดอย่างรวดเร็ว

ทำความรู้จักรูปแบบและสัญญาณของกราฟแท่งเทียน (Candlestick Patterns)

หลายคนที่อ่านกราฟราคาอาจเคยใช้กราฟแท่งที่แสดงราคาเปิด-ปิดและราคาสูงสุด-ต่ำสุดแบบเรียบง่าย แต่แทบไม่มีสัญญาณบอกแนวโน้มชัดเจน ในขณะที่กราฟแท่งเทียนมาพร้อมรูปแบบ (Candlestick Patterns) ที่บอกสัญญาณขาขึ้น ขาลง และการกลับตัว การเข้าใจรูปแบบแท่งเทียนจึงช่วยให้เทรดเดอร์อ่านสถานการณ์ตลาดและตัดสินใจเทรดได้มั่นใจขึ้น

รูปแบบแท่งเทียนแบบพื้นฐาน (แท่งเดียว)

เริ่มต้นด้วยการดูรูปแบบแท่งเทียนแบบพื้นฐาน หรือแบบแท่งเดียวกันเลย โดยลักษณะของแท่งเทียนแบบเดียวที่พบได้บ่อยและบ่งบอกสัญญาณได้จะมีดังนี้

1. Doji

แท่งเทียนแบบ Doji คือแท่งเทียนที่เกิดขึ้นโดยมีลักษณะเป็นแท่งเดียวเท่านั้น โดยการระบุรูปแบบแท่งเทียน Doji จะดูได้ดังนี้

  • แท่งเทียน Doji จะไม่มีตัวแท่ง (Body) หรือมีขนาดเล็กมาก ๆ เหมือนแค่ 1 ติ๊ก
  • มีไส้เทียน (Wick) ยื่นออกทั้งด้านบนและล่าง แต่ไม่ยาวมากนัก

บนกราฟตลาด แท่งเทียน Doji จะดูเหมือนรูปกากบาทหรือเส้นแนวตั้งเส้นเล็ก ๆ ที่แสดงถึงการลังเลของตลาด หากเจอแท่งเทียนแบบนี้ อาจบ่งบอกได้ว่าตลาดกำลังจะมีแนวโน้มที่ไม่แน่นอน

แท่งเทียนแบบ Doji และ แท่งเทียนแบบ Hammer

2. Hammer

แท่งเทียนแบบ Hammer เป็นรูปแบบแท่งเทียนที่เกิดขึ้นโดยมีลักษณะเป็นแท่งเดียว โดยลักษณะของแท่งเทียน Hammer จะมีดังนี้

  • แท่งเทียน Hammer จะมีตัวแท่ง (Body) ขนาดเล็ก
  • มีไส้เทียน (Wick) ยาวด้านล่างที่ยาวกว่า Body อย่างชัดเจน
  • ด้านบนควรไม่มี Wick หรือมีขนาดเล็กมาก
  • สีของตัวแท่งจะเป็นสีใดก็ได้

แท่งเทียนแบบ Hammer มักบ่งบอกว่าแนวโน้มขาลงอาจสิ้นสุดและกำลังจะกลับตัวขึ้น หรือบางครั้งก็เป็นสัญญาณว่าแนวโน้มขาขึ้นที่หยุดพักนั้นกำลังจะกลับมาสานต่อ (รูปแบบนี้มีความแม่นยำประมาณ 60%) ในการบ่งบอกถึงสิ่งเหล่านี้

  • จุดสิ้นสุดของแนวโน้มขาลงและการเริ่มต้นแนวโน้มขาขึ้น
  • จุดสิ้นสุดของการพักตัวของราคา และการกลับสู่แนวโน้มขาขึ้น
แท่งเทียนแบบ Doji และ แท่งเทียนแบบ Hammer

3. Shooting Star

แท่งเทียนแบบ Shooting Star เป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าตลาดอาจกำลังจะเปลี่ยนจากขาขึ้นเป็นขาลง โดยแท่งเทียนนี้แสดงถึงจุดสูงสุดของราคาและการกลับตัวขาลง มีวิธีสังเกต Shooting Star ง่าย ๆ ดังนี้

  • ตัวแท่งเทียนจะเล็ก ๆ
  • ไส้เทียนด้านบนจะยาวกว่า Body ชัดเจน ซึ่งหมายถึงราคาพุ่งขึ้นไปสูงแล้วถูกขายลงมา
  • ด้านล่างไม่มีไส้เทียน หรือมีแค่เล็กน้อย
  • สีของแท่งเทียนจะเป็นสีอะไรก็ได้ ไม่เน้นว่าจะต้องเป็นสีใด

ถ้าเห็นแท่งเทียนแบบ Shooting Star หลังจากที่ราคาขึ้นมาแรง ๆ นั่นอาจเป็นสัญญาณว่าฝั่งขายเริ่มเข้ามาคุมเกม และมีโอกาสสูงที่จะเป็นจุดกลับตัวของราคา (รูปแบบนี้มีความแม่นยำประมาณ 60%) ในสถานการณ์นี้ โดยแท่งเทียนอาจจะบ่งบอกได้ว่า

  • แนวโน้มขาขึ้นกำลังจะสิ้นสุด และแนวโน้มขาลงกำลังจะเริ่มต้น
  • หรือเป็นจุดสิ้นสุดของการดีดกลับชั่วคราว (Pullback) และกลับไปสู่แนวโน้มขาลง
แท่งเทียนแบบ Shooting Star

รูปแบบการกลับตัว (Reversal Patterns)

รูปแบบการกลับตัวของกราฟแท่งเทียน (Reversal Patterns) จะเน้นการดูแท่งเทียนในลักษณะของสองแท่งคู่กัน เพื่อดูแนวโน้มของตลาด โดยรูปแบบการกลับตัวของแท่งเทียนที่พบเห็นได้บ่อยมีดังนี้

1. Bullish Engulfing

แท่งเทียนรูปแบบ Bullish Engulfing เป็นรูปแบบแท่งเทียนที่เกิดจากแท่งเทียน 2 แท่ง และใช้ดูจุดกลับตัวจากขาลงเป็นขาขึ้น โดยมักบ่งบอกว่าแนวโน้มขาลงกำลังจะสิ้นสุดและขาขึ้นกำลังจะเริ่ม โดยสังเกต Bullish Engulfing ได้ง่าย ๆ ตามลักษณะนี้

  • แท่งแรกจะต้องเป็นแท่งขาลง (มักเป็นสีแดง) ซึ่งแสดงถึงแรงขายที่ชัดเจน
  • แท่งที่สองจะต้องเป็นแท่งขาขึ้น (มักเป็นสีเขียว) และตัวแท่งของแท่งนี้ต้องใหญ่พอที่จะครอบคลุมตัวแท่งของแท่งแรกทั้งหมด

รูปแบบนี้มักปรากฏหลังจากที่ราคาลดลงมาเรื่อย ๆ เพื่อแสดงว่าฝั่งซื้อเริ่มเข้ามาคุมเกม (รูปแบบนี้มีความแม่นยำประมาณ 62%) ถ้ารูปแบบนี้โผล่มาในช่วงที่เหมาะสม มันอาจบ่งบอกได้ถึง

  • จุดสิ้นสุดของแนวโน้มขาลงและเริ่มต้นแนวโน้มขาขึ้นใหม่
  • จุดสิ้นสุดของการย่อตัวชั่วคราวและการกลับสู่แนวโน้มขาขึ้น
แท่งเทียนรูปแบบ Bullish Engulfing

2. Bearish Engulfing

รูปแบบแท่งเทียน Bearish Engulfing เป็นสัญญาณการกลับตัวจากขาขึ้นเป็นขาลงที่น่าสนใจมาก และเกิดขึ้นจากแท่งเทียนเพียง 2 แท่ง โดยสังเกตแท่งเทียน Bearish Engulfing ได้แบบง่าย ๆ เลยคือ

  • แท่งแรกจะเป็นแท่งขาขึ้น (มักเป็นสีเขียว) ซึ่งหมายถึงมีแรงซื้อ
  • ตามมาด้วยแท่งที่สองซึ่งเป็นขาลง (มักเป็นสีแดง) และตัวแท่งต้องใหญ่พอที่จะคลุมแท่งแรกทั้งหมด

การเกิดรูปแบบ Bearish Engulfing มักเป็นสัญญาณว่าฝั่งขายเริ่มกลับมาคุมเกม (รูปแบบนี้มีความแม่นยำประมาณ 82%) ซึ่งเราจะเห็นรูปแบบนี้บ่อยหลังจากที่ราคาขึ้นมาระยะหนึ่ง หากเกิดขึ้นในจุดที่เหมาะสม มันอาจบ่งบอกถึง

  • สัญญาณสิ้นสุดแนวโน้มขาขึ้น และเริ่มต้นแนวโน้มขาลง
  • สัญญาณการสิ้นสุดของการดีดตัวสั้น ๆ (Pullback) และกลับเข้าสู่ช่วงขาลง
รูปแบบแท่งเทียน Bearish Engulfing

3. Piercing Line

แท่งเทียนรูปแบบ Piercing เป็นสัญญาณการกลับตัวขึ้นที่เกิดจากแท่งเทียนสองแท่งซึ่งมักบอกถึงจุดเริ่มของขาขึ้นใหม่ หลังจากที่ราคาลงมาสักพัก มีวิธีสังเกต Piercing Pattern แบบเข้าใจง่ายเลยคือ

  • แท่งแรกจะต้องเป็นขาลง (มักเป็นสีแดง) บอกว่าแรงขายยังอยู่
  • แท่งที่สองจะต้องเป็นขาขึ้น (มักเป็นสีเขียว)
  • แท่งขาขึ้นนี้เปิดราคาต่ำกว่าแท่งแรก (มีช่องว่างหรือ “gap” ลงมา) แล้วไปปิดเหนือจุดกลางของแท่งแรก

รูปแบบแท่งเทียนนี้จะสื่อว่าฝั่งซื้อเริ่มกลับมา ซึ่งเรามักเห็นได้หลังจากที่ราคาลงมาต่อเนื่อง (รูปแบบนี้มีความแม่นยำประมาณ 64%) ดังนั้นถ้ารูปแบบนี้เกิดขึ้นในจุดที่เหมาะสม ก็อาจบอกถึง

  • จุดสิ้นสุดแนวโน้มขาลงและเริ่มต้นแนวโน้มขาขึ้น
  • หรือสิ้นสุดการพักตัวและกลับเข้าสู่แนวโน้มขาขึ้น
แท่งเทียนรูปแบบ Piercing

รูปแบบต่อเนื่อง (Continuation Patterns)

รูปแบบกราฟแท่งเทียนแบบต่อเนื่อง นั้นจะเป็นการดูแท่งเทียนทั้งหมด 3 แท่งเพื่อดูแนวโน้มของตลาดว่าจะเป็นเช่นไร โดยแท่งเทียนรูปแบบต่อเนื่องที่จะให้คุณรู้จัก มีดังต่อไปนี้

1.Three White Soldiers

รูปแบบแท่งเทียน Three White Soldiers เป็นสัญญาณการกลับตัวที่ชัดเจนที่ใช้บอกจุดเริ่มของแนวโน้มขาขึ้น โดยประกอบด้วยแท่งเทียน 3 แท่งที่เป็นขาขึ้นต่อเนื่องกัน และมีลักษณะดังต่อไปนี้

  • ต้องเป็นแท่งเทียนขาขึ้นติดกัน 3 แท่ง
  • ตัวแท่งแต่ละแท่งต้องยาว (แสดงถึงแรงซื้อที่แข็งแกร่ง)
  • ส่วนของไส้เทียนควรสั้นหรือแทบไม่มีเลย

ถ้าเห็น Three White Soldiers หลังจากที่ราคาลงมา นี่เป็นสัญญาณที่ดีว่าฝั่งซื้อเริ่มเข้าคุมตลาดแล้ว (รูปแบบนี้มีความแม่นยำประมาณ 84%) ถ้าเกิดในตำแหน่งที่เหมาะสม รูปแบบนี้อาจบ่งบอกถึง

  • การสิ้นสุดของแนวโน้มขาลงและเริ่มแนวโน้มขาขึ้น
  • หรืออาจเป็นการกลับเข้าสู่แนวโน้มขาขึ้นหลังจากการพักตัว
รูปแบบแท่งเทียน Three White Soldiers

2.Falling Three Methods

Falling Three Methods เป็นรูปแบบแท่งเทียนที่ใช้บอกแนวโน้มขาลงต่อเนื่อง ซึ่งมักเห็นหลังจากที่ราคามีการพักตัวเล็กน้อย วิธีสังเกต Falling Three Methods แบบเข้าใจง่าย

  1. เริ่มด้วยแท่งเทียนแดงขนาดใหญ่หนึ่งแท่ง แสดงถึงแรงขายแรง ๆ
  2. ตามด้วยแท่งเทียนเขียวเล็ก ๆ 3 แท่ง ที่ราคายังไม่สูงเกินแท่งแดงแรก (เหมือนเป็นการพักตัว)
  3. จบด้วยแท่งเทียนแดงใหญ่อีกหนึ่งแท่ง ที่ปิดราคาต่ำกว่าทุกแท่งก่อนหน้า

เมื่อเห็นรูปแบบนี้ แปลว่าฝั่งขายกำลังกลับมาคุมตลาด เป็นสัญญาณว่าขาลงยังไม่จบและเป็นจังหวะดีในการมองหาจุดเข้า Short ตามแนวโน้ม โดยรูปแบบนี้มีความแม่นยำประมาณ 71%

แท่งเทียนแบบ Falling Three Methods

รูปแบบและสัญญาณกราฟแท่งเทียน (Candlestick Patterns) ทั้งหมดที่เรากล่าวมา ไม่ได้มีเพียงแค่นี้ ทางเราเพียงแค่แนะนำรูปแบบที่พบเห็นได้บ่อย ซึ่งอย่างไรก็ดี รูปแบบแท่งเทียนเหล่านี้ไม่ได้บ่งบอกได้แน่นอน 100% เพราะในตลาดการเงินนั้นมีความไม่แน่นอนเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เพราะมีปัจจัยอื่น ๆ อีกมากมายที่ส่งผลต่อราคาของสินทรัพย์ต่าง ๆ เช่น ข่าวเศรษฐกิจ สถานการณ์การเงินของแต่ละประเทศ (กรณีคู่เงิน Forex) ฯลฯ 

ดังนั้นการได้รู้จักและเข้าใจรูปแบบและสัญญาณเหล่านี้ เป็นเพียงแค่สมมติฐานเบื้องต้นเท่านั้น เพื่อให้คุณคาดการณ์ความเป็นไปได้ของตลาดการเงินที่อาจจะเกิดขึ้นได้

บทสรุป

กราฟแท่ง ถือเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับเทรดเดอร์ที่อยากอ่านพฤติกรรมของตลาดได้ชัดเจนขึ้น ไม่ว่ากราฟแท่ง (Bar Chart) และกราฟแท่งเทียน (Candlestick Chart) ต่างก็มีข้อดีและรูปแบบการนำเสนอที่ตอบโจทย์การวิเคราะห์ในสถานการณ์ที่แตกต่างกันไป 

การรู้จักและทำความเข้าใจกราฟแท่งและแท่งเทียนจะเป็นส่วนสำคัญช่วยให้เราสามารถตีความข้อมูลราคาของสินทรัพย์ต่าง ๆ ได้ดีขึ้น ไม่ได้ดูเพียงแค่ติดตามตัวเลขราคาเท่านั้น แต่ยังเป็นการอ่านพฤติกรรมของตลาดที่สะท้อนถึงอารมณ์ของนักลงทุน และช่วยให้เราสามารถตัดสินใจเทรดได้อย่างมีเหตุผลมากขึ้น ยิ่งฝึกอ่านกราฟและสังเกตสัญญาณต่าง ๆ บ่อย ๆ ก็จะยิ่งเข้าใจตลาดได้ดีขึ้น ซึ่งเป็นทักษะที่ทำให้เรามีความมั่นใจในฐานะเทรดเดอร์มืออาชีพมากยิ่งขึ้น

ลงทะเบียนสัมมนา